Process approach สำหรับ ISO9001 & ISO14001

reader 25122 Views

Process approach สำหรับ ISO9001 & ISO14001

โดยทั่วไปองค์กรต่าง ๆ นอกจากจะมีการทำระบบมาตรฐาน ISO9001:2015 แล้วก็อาจจะเพิ่มมาตรฐานอื่น ๆ เข้ามาด้วย ดังนั้นการทำระบบแบบบูรณาการ (Integrated Management System) จึงมีความสำคัญในการช่วยให้ระบบเกิดการทำงานไม่ซ้ำซ้อนและเข้ากันได้กับมาตรฐานต่าง ๆ ด้วยการประยุกต์ระบบรูปแบบเดียวกัน

รูปแบบหนึ่งของการประยุกต์ระบบ คือการจัดการเชิงกระบวนการ หรือเราเรียกกันว่า Process Approach เป็นการจัดการเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ของกระบวนการตามที่คาดหวัง โดยมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าอย่างเหมาะสม รูปแบบการจัดการนี้ เราสามารถนำมาใช้ร่วมกันระหว่างมาตรฐาน ISO9001 ระบบการจัดการด้านคุณภาพ และ ISO14001 ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เรามาดูกันว่าการจัดการทำอย่างไรครับ

รูปแบบของ Process approach หรือ ผังเต่า (Turtle diagram)

ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจคำว่ากระบวนการก่อนครับ

กระบวนการ (Process) คือ กิจกรรมหรือกลุ่มของกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กันในการแปลง ปัจจัยนำเข้า (input) ให้กลายเป็นผลที่คาดหวัง (output) เช่น กระบวนการหุงข้าว คือการนำข้าว (input) มาหุงด้วยความร้อนจากหม้อหุงข้าวไฟฟ้า (activities) ได้ข้าวสวยร้อน ๆ สุกพอดี และไม่เละหรือดิบ (output) ซึ่งที่กล่าวเป็นการพิจารณาในมุมมองของระบบบริหารด้านคุณภาพครับ

รูปแบบการจัดการเราจะเห็นลูกศรชี้เข้าสีแดง จำนวน 4 ลูกศร ซึ่งจำเป็นต้องมีสำหรับกระบวนการ และลูกศรชี้ออก สีเขียว 2 ลูกศร และมีชื่อกระบวนการตรงกลาง ซึ่งขออธิบายตามหลายเลขที่กำหนด ดังนี้ครับ

        กล่องที่ 1 คือ ปัจจัยนำเข้า (input) เป็นสิ่งที่เราต้องการแปลง ให้เป็นผลลัพธ์ เช่น อยากกินข้าวสวยร้อน เราก็ต้องมี Input เป็น ข้าวสาร, เรียกกันง่าย ๆ ว่าส่วนนี้คือวัตถุดิบ หรือข้อมูลป้อนเข้าที่ต้องใช้ในกระบวนการนั่นเอง โดยอาจจะมีหลากหลายรายการ แล้วแต่กระบวนการมากน้อยแตกต่างกันไป

  • ตามตัวอย่าง เป็นกระบวนการ Die cut ใช้กระดาษ, บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ป้อนเข้ากระบวนการ

        กล่องที่ 2 คือ ทรัพยากร เป็นส่วนที่กำหนดสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการ เช่น เครื่องจักร, อุปกรณ์การผลิต, อุปกรณ์การสื่อสาร, รถขนส่ง, คอมพิวเตอร์, ซอฟแวร์ต่าง, เครื่องมือวัด ฯลฯ

  • ตามตัวอย่าง กระบวนการ Die cut ใช้อุปกรณ์ เช่น Press machine, Die

        กล่องที่ 3 คือ คนทำงานในกระบวนการนี้ เป็นส่วนที่กำหนดบทบาท หน้าที่ของคนที่ทำงานในกระบวนการนี้ รวมไปถึงกำหนดทักษะ ความสามารถที่จำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถควบคุมกระบวนการเป็นไปตามที่กำหนด

  • ตามตัวอย่าง กระบวนการ Die cut ตำแหน่ง พนักงานช่างเทคนิค มีหน้าที่ตั้ง Die, เครื่องจักร ให้ตรงกับผลิตภัณฑ์ ต้องมีความรู้เรื่องเครื่องจักร, Die และมีทักษะในการปรับแต่งให้เหมาะสมกับการผลิต

        กล่องที่ 4 คือ วิธีการและเกณฑ์การควบคุมการทำงาน เป็นการกำหนดขั้นตอนหรือคู่มือเพื่อเป็นมาตรฐานในการทำงาน เช่น ทำเป็น วิธีปฏิบัติงาน (Work instruction), มาตรฐานการติดตั้ง (Set up standard), condition standard ฯลฯ โดยกำหนดเป็นเอกสารประกอบการทำงาน

  • ตามตัวอย่าง กระบวนการ Die cut กำหนดคู่มือ เช่น WI การติดตั้ง Die, WI การควบคุมการผลิต

        กล่องที่ 5 คือ กระบวนการที่ดำเนินการ อาจจะประกอบจากกระบวนการย่อย ๆ หลาย ๆ กระบวนการ เป็นการลงมือดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนด โดยการใช้ input ในกล่องที่ 1- 4 มาใช้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในกล่องที่ 6 และ 7

        กล่องที่ 6 คือ ผลลัพธ์ของกระบวนการ (Output) เป็นสิ่งที่เราต้องการจะได้รับจากการดำเนินการนั้น ซึ่งต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการตามที่เราต้องการ

  • ตามตัวอย่าง กระบวนการ Die cut ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ผ่านการ Die cut แล้วมีรอยตัดตามตำแหน่ง Die ที่กำหนด ซึ่งตรงตามแบบ และได้ตามปริมาณที่ต้องการ

        กล่องที่ 7 คือ ตัวชี้วัดกระบวนการ เป็นการวัดว่ากระบวนการที่ดำเนินการเป็นไปตามวัตถุประสงค์เป้าหมายหรือไม่ โดยเราสามารถกำหนดตัวชี้วัดได้ทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการ

  • ตามตัวอย่าง เป็นกระบวนการ Die cut เช่น ของเสียจากการผลิตไม่เกิน 1%

 

การประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2015)

ก่อนที่เราจะเริ่มบูรณาการระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (ISO14001) เข้ากับระบบบริหารคุณภาพ (ISO9001) เราต้องเข้าใจก่อนว่ามาตรฐานระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์อีกด้านหนึ่งแตกต่างจากระบบบริหารคุณภาพ ซึ่งเน้นผลลัพธ์ด้านสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วย การปกป้องสิ่งแวดล้อม, บรรลุวัตถุประสงค์และเพิ่มสมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อม, รวมถึงการบรรลุพันธะกรณี ข้อบังคับ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ  ดังนั้นการคิดจะมองอีกมุมนึงเจาะจงด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ

ขออธิบายนิยามพื้นฐาน เพื่อให้เข้าใจได้อย่างถูกต้องก่อนนะครับ

สิ่งแวดล้อม (environmental) คือ สิ่งที่อยู่รอบๆ องค์กร เช่น อากาศ น้ำ พื้นดิน ทรัพยากรธรรมชาติ พืช สัตว์ คน เป็นต้น

ประเด็นสิ่งแวดล้อม (environmental aspect) คือ องค์ประกอบของกิจกรรมหรือผลิตภัณฑ์หรือบริการขององค์กรที่สามารถมีผลต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ทรัพยากร, ของเสียจากกระบวนการ

        ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact) คือ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผลมาจากประเด็นสิ่งแวดล้อมขององค์กร

        สภาพสิ่งแวดล้อม (Environmental Condition) คือ สถานะหรือคุณลักษณะของสิ่งแวดล้อมที่มีการพิจารณาที่จุดใดจุดหนึ่งในเวลานั้น

เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ มาตรฐาน ISO14001:2015 เข้ากับการประยุกต์เชิงกระบวนการ จะเป็นไปดังแผนภาพครับ

        กล่องที่ 1 คือ ปัจจัยนำเข้า (input) มีการพิจารณา ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม (Environmental aspect) / และผลกระทบ (Environmental impact) ดังตัวอย่าง เช่น

  • การใช้กระดาษและบรรจุภัณฑ์ (Environmental aspect) / ทำให้ป่าไม้หมด (Environmental impact)

กล่องที่ 6 คือ ผลลัพธ์ของกระบวนการ (output) มีการพิจารณา ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม (Environmental aspect) / และผลกระทบ (Environmental impact) ดังตัวอย่าง เช่น

  • ของเสียที่เกิดขึ้น (Environmental aspect) / เป็นภาระการกำจัด (Environmental impact)

กล่องที่ 5 คือ กระบวนการ มีกิจกรรมต่าง ๆ จะมีการพิจารณา

  • Environment สิ่งแวดล้อม คือ คน, อากาศ, เสียง, ดิน
  • Environmental Aspect ประเด็นสิ่งแวดล้อม / Environmental Impact ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
  • ความร้อนที่ออกมาจากกระบวนการ / ทำให้อากาศร้อน โลกร้อน
  • เสียงจากเครื่อง / ทำให้เสียงดังเกินกว่ากฎหมายกำหนด
  • ฝุ่นจากการตัด / ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ
  • Environmental Condition สภาพสิ่งแวดล้อม เช่น
    • อุณหภูมิในพื้นที่การผลิตสูง
    • คุณภาพอากาศฝุ่นเกินมาตรฐาน
    • ระดับความดังเสียงในพื้นที่สูง

        เมื่อเราพิจารณาพบว่า สภาพสิ่งแวดล้อม (Environmental Condition) ไม่อยู่ในระดับที่เรากำหนด หรือไม่เป็นตามข้อกำหนด กฎหมาย จะถูกนำมาพิจารณาหาทางจัดการ เพื่อป้องกันหรือลดมลภาวะ

        Pollution prevention – การป้องกันมลพิษ เช่น เลือกใช้กระดาษเคลือบที่ไม่มีฝุ่น, การบำรุงรักษา Die cut ให้คมเสมอ

และ เราสามารถพิจารณาตัวชี้วัดต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบบริหารคุณภาพ ได้ โดยอาจพิจารณาจาก

  • ECI - Environmental Condition Indicator ตัวชี้วัดจากสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น
    • ปริมาณฝุ่นในอากาศ < 10 mg/l
    • ระดับ SS ลดลง 10% จากปี 2563
  • MPI – Management Performance Indicator ตัวชี้วัดสำหรับการบริหาร
    • สามารถแสดงได้หลายมุม เช่น
      • ด้านสังคม เช่น วัดว่ามีการฝึกอบรม เพื่อ ปรับปรุงประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม
      • ด้านเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนเทคโนโลยีใหม่ เพื่อผลลัพธ์ทางด้านเศรษฐกิจ
      • ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ลดค่าใช้จ่าย เพื่อผลการปรับปรุงสมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อม
    • OPI - Operational Performance Indicator ตัวชี้วัดตามสมรรถนะของกระบวนการ เช่น
      • เช่น การลดการใช้ไฟฟ้า, น้ำ, การปล่อยของเสีย

จะเห็นได้ว่า แผนผังการจัดการเชิงกระบวนการ (Process approach) หรือ ผังเต่า (Turtle diagram) สามารถแสดงให้เราเข้าใจด้วยภาพได้ง่ายขึ้น และสามารถสื่อสารกับทีมงานในองค์กรได้ชัดเจน ลองนำไปประยุกต์ใช้ดูนะครับ

มีข้อสงสัย หรือข้อซักถามเกี่ยวข้องกับระบบมาตรฐานต่าง ๆ ติดต่อ สอบถามเราได้ตลอดครับ

#ProcessApproach, #TurtleDiagram